เมนูหลัก

ทีมนำคุณภาพโรงพยาบาล

รู้ทัน..โรคไข้เลือดออก


ข้เลือดออกเกิดจากอะไร

เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเองกี(Dengue virus)นำโรคโดยยุงลายที่มีชื่อว่า เอดิส อีวิปติ(Aedes aegypti)ยุงชนิดนี้มีขนาดเล็ก สีดำ มีลายขาวที่ขา ท้องและลำตัว ทำให้เห็นเป็นปล้องสีขาวสลับดำ และมีทางขาวคู่อยู่ที่ด้านหลัง ยุงนี้เป็นยุงบ้านชอบอยู่ในบ้านและรอบๆบ้าน ชอบกัดกินเลือดคนในเวลากลางวันเพาะพันธุ์ในน้ำนิ่งใสค่อนข้างสะอาดแหล่งเพาะพันธุ์ที่สำคัญได้แก่เครื่องใช้ที่มีน้ำขังทิ้งไว้เป็นเวลานาน เช่น จานรองขาตู้กับข้าว กระถาง หรือแจกันที่ใช้เลี้ยงไม้ใบต่างๆ หรือโอ่งน้ำที่ใช้ปลูกบัว ตุ่ม ไห หม้อ ขวด กระป๋อง กะลา ยางรถ และสิ่งอื่นๆที่มีน้ำขังทิ้งไว้ ยุงลายที่เป็นพาหะของโรคนี้จึงเป็นตัวการสำคัญที่สุดของการระบาดของโรค เพราะเมื่อยุงติดเชื้อไวรัสเข้าไปในตัวแล้วครั้งหนึ่งเชื้อโรคจะยังคงอยู่ไปตลอดจนชั่วอายุของยุงนั้น ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 1-2 เดือน

ผู้ที่เป็นไข้เลือดออกมีอาการอย่างไรบ้าง

หลังจากถูกยุงที่มีเชื้อไวรัสเดงกีกัด เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านระยะฟักตัวซึ่งกินเวลาประมาณ 5-8 วันแล้ว จะเริ่มมีอาการของโรคเริ่มด้วยอาการไข้ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกะทันหัน จะมีหน้าตาแดง บางรายจะบ่นปวดรอบกระบอกตาพร้อมกับปวดศีรษะ ส่วนมากจะไม่ค่อยไอ ไม่ค่อยมีน้ำมูกไหล ไม่เหมือนกับผู้ที่เป็นไข้หวัดโดยทั่วไป จะมีอาการซึมเบื่ออาหารและท้องผูก อาการอาเจียนและปวดท้องเป็นอาการที่พบได้บ่อย ไข้มักสูงติดต่อกันเป็นระยะเวลา 4-5 วัน หรือบางรายอาจจะมีไข้เพียง 2-3 วัน ส่วนใหญ่และระยะไข้จะไม่เกิน 7 วัน อาการเลือดออกซึ่งเป็นที่มาของชื่อไข้เลือดออกที่พบได้เสมอๆ คือจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง จะเห็นเป็นจุดกลมเล็กๆ สีแดงคล้ายกับตุ่มยุงกัดแต่แต่เล็กกว่าและอยู่ลึกกว่า เวลากดผิวหนังให้ตึงจุดนี้จะเห็นได้ชัดเหมือนเดิม ผิดกับตุ่มยุงที่จะหายไป บริเวณที่มักพบจุดเลือดออกได้บ่อยคือ ตามแขน ขา รักแร้ ที่หน้า ตามลำตัวอาจพบได้บ้าง บางรายอาจเป็นรอยช้ำสีเขียวๆ ผู้ป่วยไข้เลือดออกเส้นเลือดฝอยจะเปราะกว่าธรรมดา เห็นได้จากการตรวจโดยใช้สายรัดแขนรัดไว้จะมีจุดเลือดออกเกิดขึ้นต่ำกว่าบริเวณที่รัดไว้เป็นจำนวนมากกว่าคนปกติ ผู้ป่วยบางรายจะมีเลือดกำเดาออกผู้ที่เหงือกไม่ดี หรือฟันผุอยู่แล้วอาจมีเลือดออกตามไรฟันได้อาการเลือดออกต่างๆดังกล่าวอาจพบได้หลังจากเป็นไข้แล้วเพียง 1-2 วัน หรือบางรายอาจจะเกิดขึ้นเมื่อไข้ลดลงเรียบร้อยแล้ว จุดเลือดออกนี้จะคงอยู่ประมาณ 3-4 วัน แล้วจึงค่อยจางหายไปเอง ไม่มีอันตรายร้ายแรง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีตับโต ผู้ป่วยอาจบ่นแน่นท้องและเจ็บบริเวณชายโครงขวาซึ่งเป็นตำแหน่งของตับ ในรายที่มีอาการไม่รุนแรงหลังจากที่มีไข้ 3-4 วันแล้ว อาการต่างๆ จะเริ่มดีขึ้นกลับเป็นปกติเมื่อไข้ลดลง จุดเลือดออกก็จะจางหายไปในระยะ 2-3 วันผู้ป่วยจะเริ่มอยากอาหารและรับประทานได้เป็นปกติ

อาการรุนแรงของไข้เลือดออกเป็นอย่างไร
ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรงมากถ้าไม่ได้รักษาทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้ ผู้ป่วยเหล่านี้หลังจากมีไข้ 3-4 วันจะซึมมากขึ้นและอาเจียน บางรายบ่นปวดท้อง อาการที่เป็นสัญญาณอันตรายคือมือเท้าเย็น เหงื่อออกชื้น กระหายน้ำ กระสับกระส่าย ชีพจรเบาเร็วและปัสสาวะน้อยลง ซึ่งเป็นอาการแสดงเริ่มแรกของการช็อก มักจะเกิดพร้อมกับที่ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาในระยะนี้อาการจะมากขึ้น ตัวเย็นมากขึ้นและปลายมือปลายเท้ามีสีคล้ำ รอบๆปากจะเขียว ผู้ป่วยเด็กจะมีอาการกระสับกระส่ายมากขึ้น บางรายจะมีเลือดออกจากทางเดินอาหาร อาเจียนเป็นเลือดและหรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือด อาการต่างๆเหล่านี้เกิดอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีผู้ป่วยที่มีความรุนแรงมา เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของเส้นเลือด ทำให้พลาสมาซึ่งเป็นส่วนสำคัญของโลหิตที่ไหลเวียนอยู่ในร่างกายออกไปนอกระบบการไหลเวียน อัตราส่วนของพลาสมาและเม็ดเลือดแดงที่ประกอบเป็นโลหิตจึงเปลี่ยนแปลงไปโดยเลือดจะข้นขึ้นเมื่อเสียพลาสมาออกไป
นอกเส้นเลือดมากขึ้น ทำให้จำนวนพลาสมาลดลงเป็นผลให้ปริมาณโลหิตที่ไหลเวียนลดน้อยลงตามส่วนเกิดความล้มเหลวของการไหลเวียน ผู้ป่วยจึงเกิดอาการช็อก ส่วนสำคัญของร่างกายเช่น สมอง ไตและส่วนอื่นๆจะขาดเลือด ขาดออกซิเจนทำให้เสียชีวิตได้

จะดูแลผู้ที่เป็นไข้เลือดออกในเบื้องต้นอย่างไร
• เช็ดตัวลดไข้และให้ยาลดไข้พาราเซตามอลเมื่อมีไข้สูง ควรหลีกเลี่ยงการให้ยาแอสไพรินหรือไอบรูโพรเฟนลดไข้ เพราะอาจทำให้มีเลือดออกหยุดได้ยาก มีอาการทางสมองหรือตับวายได้
• ถ้าพอรับประทานอาหารได้ ควรให้อาหารอ่อน ย่อยง่าย หากรับประทานอาหารได้น้อย ให้ดื่มนม น้ำผลไม้หรือน้ำเกลือแร่
• ถ้ามีเกร็ดเลือดต่ำควรหลีกเลี่ยงการกระทบกระแทก เพราะอาจมีเลือดออกได

เมื่อไปพบแพทย์จะได้รับการตรวจอะไรบ้าง 
แพทย์จะสอบถามประวัติตรวจร่างกายว่ามีจุดเลือดออก ตับโตหรือไม่ ตรวจรัดแขนด้วยสายยางรัดแขน ว่าเส้นเลือดเปราะแตกง่ายมีจุดเลือดออกหรือไม ่ ถ้าสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออกแพทย์อาจขอเจาะเลือดตรวจเพื่อวินิจฉัยและสังเกตอาการต่อไปอย่างใกล้ชิด

เมื่อใดต้องรีบส่งโรงพยาบาลทันที
• เมื่อมีเลือดออกผิดปกติ อาเจียนมาก ปวดท้อง ซึม ไม่ดื่มน้ำ กระหายน้ำตลอดเวลา มีปัสสาวะออกน้อย
• เมื่อความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง ร้องกวน กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ตัวลาย เหงื่อออกโดยเฉพาะในช่วงไข้ลง

จะทราบได้อย่างไรว่าผู้ป่วยพ้นขีดอันตรายจากไข้เลือดออกแล้ว
เมื่ออาการไข้ลดลงใน 24-48 ชั่วโมงแล้วเริ่มกินได้ รู้สึกตัวดีไม่ซึม

ไข้เลือดออกมีกี่สายพันธุ์ เมื่อติดเชื้อไข้เลือดออกแล้วจะมีโอกาสเป็นซ้ำได้อีกหรือไม่
ไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ที่ 1,2,3 และ4 ในแต่ละปีจะมีการระบาดของสายพันธุ์ต่างๆสลับกันไปการติดเชื้อไข้เลือดออกสายพันธุ์หนึ่งจะทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้นตลอดชีวิต และสามารถสร้างภูมิคุ้มกันข้ามไปยังสายพันธุ์อื่นได้ระยะหนึ่งและจะหายไป ดังนั้นผู้ป่วยที่เคยติดเชื่อแล้วจึงมีโอกาสติดเชื่อครั้งที่สองจากสายพันธุ์ที่แตกต่างไปได้อีก โดยการติดเชื่อครั้งที่สองมักมีอาการที่รุนแรงกว่าครั้งแรกส่วนใหญ่มักมีการติดเชื้อไม่เกิน 2 ครั้ง


จะป้องกันไข้เลือดออกได้หรือไม่

เนื่องจากวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกอยู่ในขั้นกำลังพัฒนายังไม่มีจำหน่ายในขณะนี้ วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไข้เลือดออกคือระวังไม่ให้เด็กถูกยุงลายกัดและรณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เช่น การปิดฝาโอ่งน้ำ เทน้ำในแจกันหรือน้ำที่หล่อขาตู้ทุก 7 วัน ใส่ทรายอะเบทในแหล่งน้ำขัง เป็นต้น
สำหรับบ้านที่มีผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออก จำเป็นต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบ เพื่อจะได้พ่นยาฆ่าตัวยุง เป็นการป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่ที่อื่น

 


โรงพยาบาลขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ข้อมูลโดย
หน่วยสุขศึกษา ฝ่ายผู้ป่วยนอก
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขุนยวม

นายแพทย์สุพัฒน์ ใจงาม

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขุนยวม

หนังสือราชการ Online

ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร

กองทุนสมเด็จพระสังฆราช

ITA

Weblink