เมนูหลัก

ทีมนำคุณภาพโรงพยาบาล

ข้อควรรู้ เมื่อต้องเผชิญกับฝุ่น PM 2.5

 

 

ดูแลรักษาหัวใจให้ปลอดภัยจากโรค

หัวใจเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกายที่ทำงานโดยไม่มีวันหยุด หากหัวใจหยุดเต้น นั่นยอมหมายถึงการสิ้นสุดของชีวิตด้วยเช่นกัน ดังนั้นการดูแลหัวใจให้แข็งแรงจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

 

ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากรศ.นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ หน่วยโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องของการดูแลหัวใจให้ปลอดภัยจากโรค

หน้าที่ของหัวใจ

หัวใจมีหน้าที่ในการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยทำงานไม่มีวันหยุด หากหัวใจไม่ทำงานร่างกายก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน

ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจ

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลให้เกิดปัญหากับหัวใจที่พบได้บ่อยในประเทศไทย ได้แก่ การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารประเภทแป้ง อาหารที่มีรสหวานจัด อาหารที่มีไขมันสูง และขาดการออกกำลังกาย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดโรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อันมีผลต่อการเกิดโรคหัวใจตามมา

นอกจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น พันธุกรรมก็เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจด้วยเช่นกัน โดยในผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจจะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจได้ และสำหรับโรคบางโรค เช่น โรคเบาหวาน โรคลูปัส ก็จะส่งผลให้ผู้ป่วยมีโอกาสเป็นโรคหัวใจได้มากขึ้นด้วย

โรคหัวใจที่พบได้บ่อยในประเทศไทย

ในประเทศไทย โรคหัวใจที่พบได้บ่อยคือโรคของหลอดเลือด ซึ่งหัวใจมีหน้าที่ในการปั้มเลือด แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการเลือดไปเลี้ยงตัวเองผ่านทางหลอดเลือด 3 เส้น ซึ่งเมื่อมีการใช้งานไปนาน ๆ หลอดเลือดเหล่านี้ก็จะมีไขมันและหินปูนไปสะสม เกิดเป็นตะกรันและทำให้หลอดเลือดตีบได้ หากตระกรันนี้เกิดการปริแตกออก ก็จะทำให้ลิ่มเลือดอุดตัน และทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันได้ นอกจากนั้นยังอาจก่อให้เกิดความทุพลภาพได้ด้วย

โรคหัวใจ ไม่ใช่โรคของผู้สูงอายุเท่านั้น

โรคหัวใจเป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันสามารถพบโรคนี้ได้ในผู้ที่อายุน้อยลงกว่าเดิมมาก โดยพบผู้ป่วยในช่วงอายุ 30 – 40 ปีมากขึ้น ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับคนในช่วงวัยดังกล่าวต้องออกไปทำงานและมีโอกาสสัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ มากขึ้น เช่นผู้ขับรถแท็กซี่ ซึ่งมีเวลารับประทานอาหารน้อย และมักเลือกรับประทานอาหารประเภทแป้งและมีไขมันสูง ไม่ค่อยได้ออกกกำลังกาย และบางรายยังสูบบุหรี่ด้วย ปัจจุบันจึงพบว่าผู้ขับแท็กซี่เป็นโรคหัวใจกันมากขึ้น

โรคหัวใจ...เป็นแล้วหายได้หรือไม่?

ผู้ป่วยโรคหัวใจบางราย เมื่อได้รับการรักษาแล้วจะสามารถหายขาดจากโรคได้ แต่บางรายจะไม่หาย โดยคนส่วนใหญ่ที่เป็นโรคหัวใจมักต้องรับประทานยาตลอดไป เพื่อลดโอกาสในการกลับเป็นซ้ำ

ปัจจุบันยาสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจได้เปลี่ยนบทบาทจากการรักษาโรคมาเป็นป้องกันโรค ซึ่งก็ได้ผลมากในการลดอุบัติการณ์การกลับมาเป็นซ้ำและอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ เพราะฉะนั้นการรับประทานยาจึงมีความจำเป็นสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ

การดูแลหัวใจ

สำหรับการวิธีการดูแลหัวใจที่ดีทั้งในส่วนของผู้ที่ป่วยเป็นโรคัวใจแล้ว ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงสูง และผู้ที่ยังไม่ได้ป่วยเป็นโรคหัวใจคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ซึ่งได้แก่ หยุดสูบบุหรี่รวมทั้งหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับผู้ที่สูบบุหรี่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารอย่างพอเหมาะ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทแป้ง อาหารที่ที่มีรสหวานจัด อาหารที่มีไขมันสูง และสำหรับผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคหัวใจ รวมทั้งผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจสูงก็ควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ เพื่อตรวจคัดกรองหาโรคหัวใจด้วย

การออกกำลังกาย

สำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเช่นกันว่าสามารถทำได้หรือไม่ และควรออกกำลังกายมากน้อยเพียงใด โดยทั่วไป แพทย์จะแนะนำให้ผู้ที่เป็นโรคหัวใจและคนปรกติออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3–4 ครั้ง ครั้งละ 30–40 นาที ซึ่งการเดินก็เป็นออกกำลังกายอย่างหนึ่งที่ทำได้ง่าย โดยการเดินเพื่อออกกำลังกายที่เหมาะสมคือเดินครั้งละ 20 นาที สัปดาห์ละ 4 ครั้ง ซึ่งพบว่าการออกกำลังกายโดยการเดินที่เหมาะสมจะสามารถสามารถลดโอกาสในการเกิดโรคหัวใจในผู้ที่ยังไม่ได้เป็นโรคหัวใจหรือมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจได้ ส่วนผู้ที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้วก็มีโอกาสในเกิดการเจ็บป่วยซ้ำใหม่น้อยลง

  

       

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

รู้ทัน..โรคไข้เลือดออก


ข้เลือดออกเกิดจากอะไร

เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเองกี(Dengue virus)นำโรคโดยยุงลายที่มีชื่อว่า เอดิส อีวิปติ(Aedes aegypti)ยุงชนิดนี้มีขนาดเล็ก สีดำ มีลายขาวที่ขา ท้องและลำตัว ทำให้เห็นเป็นปล้องสีขาวสลับดำ และมีทางขาวคู่อยู่ที่ด้านหลัง ยุงนี้เป็นยุงบ้านชอบอยู่ในบ้านและรอบๆบ้าน ชอบกัดกินเลือดคนในเวลากลางวันเพาะพันธุ์ในน้ำนิ่งใสค่อนข้างสะอาดแหล่งเพาะพันธุ์ที่สำคัญได้แก่เครื่องใช้ที่มีน้ำขังทิ้งไว้เป็นเวลานาน เช่น จานรองขาตู้กับข้าว กระถาง หรือแจกันที่ใช้เลี้ยงไม้ใบต่างๆ หรือโอ่งน้ำที่ใช้ปลูกบัว ตุ่ม ไห หม้อ ขวด กระป๋อง กะลา ยางรถ และสิ่งอื่นๆที่มีน้ำขังทิ้งไว้ ยุงลายที่เป็นพาหะของโรคนี้จึงเป็นตัวการสำคัญที่สุดของการระบาดของโรค เพราะเมื่อยุงติดเชื้อไวรัสเข้าไปในตัวแล้วครั้งหนึ่งเชื้อโรคจะยังคงอยู่ไปตลอดจนชั่วอายุของยุงนั้น ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 1-2 เดือน

ผู้ที่เป็นไข้เลือดออกมีอาการอย่างไรบ้าง

หลังจากถูกยุงที่มีเชื้อไวรัสเดงกีกัด เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านระยะฟักตัวซึ่งกินเวลาประมาณ 5-8 วันแล้ว จะเริ่มมีอาการของโรคเริ่มด้วยอาการไข้ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกะทันหัน จะมีหน้าตาแดง บางรายจะบ่นปวดรอบกระบอกตาพร้อมกับปวดศีรษะ ส่วนมากจะไม่ค่อยไอ ไม่ค่อยมีน้ำมูกไหล ไม่เหมือนกับผู้ที่เป็นไข้หวัดโดยทั่วไป จะมีอาการซึมเบื่ออาหารและท้องผูก อาการอาเจียนและปวดท้องเป็นอาการที่พบได้บ่อย ไข้มักสูงติดต่อกันเป็นระยะเวลา 4-5 วัน หรือบางรายอาจจะมีไข้เพียง 2-3 วัน ส่วนใหญ่และระยะไข้จะไม่เกิน 7 วัน อาการเลือดออกซึ่งเป็นที่มาของชื่อไข้เลือดออกที่พบได้เสมอๆ คือจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง จะเห็นเป็นจุดกลมเล็กๆ สีแดงคล้ายกับตุ่มยุงกัดแต่แต่เล็กกว่าและอยู่ลึกกว่า เวลากดผิวหนังให้ตึงจุดนี้จะเห็นได้ชัดเหมือนเดิม ผิดกับตุ่มยุงที่จะหายไป บริเวณที่มักพบจุดเลือดออกได้บ่อยคือ ตามแขน ขา รักแร้ ที่หน้า ตามลำตัวอาจพบได้บ้าง บางรายอาจเป็นรอยช้ำสีเขียวๆ ผู้ป่วยไข้เลือดออกเส้นเลือดฝอยจะเปราะกว่าธรรมดา เห็นได้จากการตรวจโดยใช้สายรัดแขนรัดไว้จะมีจุดเลือดออกเกิดขึ้นต่ำกว่าบริเวณที่รัดไว้เป็นจำนวนมากกว่าคนปกติ ผู้ป่วยบางรายจะมีเลือดกำเดาออกผู้ที่เหงือกไม่ดี หรือฟันผุอยู่แล้วอาจมีเลือดออกตามไรฟันได้อาการเลือดออกต่างๆดังกล่าวอาจพบได้หลังจากเป็นไข้แล้วเพียง 1-2 วัน หรือบางรายอาจจะเกิดขึ้นเมื่อไข้ลดลงเรียบร้อยแล้ว จุดเลือดออกนี้จะคงอยู่ประมาณ 3-4 วัน แล้วจึงค่อยจางหายไปเอง ไม่มีอันตรายร้ายแรง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีตับโต ผู้ป่วยอาจบ่นแน่นท้องและเจ็บบริเวณชายโครงขวาซึ่งเป็นตำแหน่งของตับ ในรายที่มีอาการไม่รุนแรงหลังจากที่มีไข้ 3-4 วันแล้ว อาการต่างๆ จะเริ่มดีขึ้นกลับเป็นปกติเมื่อไข้ลดลง จุดเลือดออกก็จะจางหายไปในระยะ 2-3 วันผู้ป่วยจะเริ่มอยากอาหารและรับประทานได้เป็นปกติ

อาการรุนแรงของไข้เลือดออกเป็นอย่างไร
ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรงมากถ้าไม่ได้รักษาทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้ ผู้ป่วยเหล่านี้หลังจากมีไข้ 3-4 วันจะซึมมากขึ้นและอาเจียน บางรายบ่นปวดท้อง อาการที่เป็นสัญญาณอันตรายคือมือเท้าเย็น เหงื่อออกชื้น กระหายน้ำ กระสับกระส่าย ชีพจรเบาเร็วและปัสสาวะน้อยลง ซึ่งเป็นอาการแสดงเริ่มแรกของการช็อก มักจะเกิดพร้อมกับที่ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาในระยะนี้อาการจะมากขึ้น ตัวเย็นมากขึ้นและปลายมือปลายเท้ามีสีคล้ำ รอบๆปากจะเขียว ผู้ป่วยเด็กจะมีอาการกระสับกระส่ายมากขึ้น บางรายจะมีเลือดออกจากทางเดินอาหาร อาเจียนเป็นเลือดและหรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือด อาการต่างๆเหล่านี้เกิดอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีผู้ป่วยที่มีความรุนแรงมา เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของเส้นเลือด ทำให้พลาสมาซึ่งเป็นส่วนสำคัญของโลหิตที่ไหลเวียนอยู่ในร่างกายออกไปนอกระบบการไหลเวียน อัตราส่วนของพลาสมาและเม็ดเลือดแดงที่ประกอบเป็นโลหิตจึงเปลี่ยนแปลงไปโดยเลือดจะข้นขึ้นเมื่อเสียพลาสมาออกไป
นอกเส้นเลือดมากขึ้น ทำให้จำนวนพลาสมาลดลงเป็นผลให้ปริมาณโลหิตที่ไหลเวียนลดน้อยลงตามส่วนเกิดความล้มเหลวของการไหลเวียน ผู้ป่วยจึงเกิดอาการช็อก ส่วนสำคัญของร่างกายเช่น สมอง ไตและส่วนอื่นๆจะขาดเลือด ขาดออกซิเจนทำให้เสียชีวิตได้

จะดูแลผู้ที่เป็นไข้เลือดออกในเบื้องต้นอย่างไร
• เช็ดตัวลดไข้และให้ยาลดไข้พาราเซตามอลเมื่อมีไข้สูง ควรหลีกเลี่ยงการให้ยาแอสไพรินหรือไอบรูโพรเฟนลดไข้ เพราะอาจทำให้มีเลือดออกหยุดได้ยาก มีอาการทางสมองหรือตับวายได้
• ถ้าพอรับประทานอาหารได้ ควรให้อาหารอ่อน ย่อยง่าย หากรับประทานอาหารได้น้อย ให้ดื่มนม น้ำผลไม้หรือน้ำเกลือแร่
• ถ้ามีเกร็ดเลือดต่ำควรหลีกเลี่ยงการกระทบกระแทก เพราะอาจมีเลือดออกได

เมื่อไปพบแพทย์จะได้รับการตรวจอะไรบ้าง 
แพทย์จะสอบถามประวัติตรวจร่างกายว่ามีจุดเลือดออก ตับโตหรือไม่ ตรวจรัดแขนด้วยสายยางรัดแขน ว่าเส้นเลือดเปราะแตกง่ายมีจุดเลือดออกหรือไม ่ ถ้าสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออกแพทย์อาจขอเจาะเลือดตรวจเพื่อวินิจฉัยและสังเกตอาการต่อไปอย่างใกล้ชิด

เมื่อใดต้องรีบส่งโรงพยาบาลทันที
• เมื่อมีเลือดออกผิดปกติ อาเจียนมาก ปวดท้อง ซึม ไม่ดื่มน้ำ กระหายน้ำตลอดเวลา มีปัสสาวะออกน้อย
• เมื่อความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง ร้องกวน กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ตัวลาย เหงื่อออกโดยเฉพาะในช่วงไข้ลง

จะทราบได้อย่างไรว่าผู้ป่วยพ้นขีดอันตรายจากไข้เลือดออกแล้ว
เมื่ออาการไข้ลดลงใน 24-48 ชั่วโมงแล้วเริ่มกินได้ รู้สึกตัวดีไม่ซึม

ไข้เลือดออกมีกี่สายพันธุ์ เมื่อติดเชื้อไข้เลือดออกแล้วจะมีโอกาสเป็นซ้ำได้อีกหรือไม่
ไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ที่ 1,2,3 และ4 ในแต่ละปีจะมีการระบาดของสายพันธุ์ต่างๆสลับกันไปการติดเชื้อไข้เลือดออกสายพันธุ์หนึ่งจะทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้นตลอดชีวิต และสามารถสร้างภูมิคุ้มกันข้ามไปยังสายพันธุ์อื่นได้ระยะหนึ่งและจะหายไป ดังนั้นผู้ป่วยที่เคยติดเชื่อแล้วจึงมีโอกาสติดเชื่อครั้งที่สองจากสายพันธุ์ที่แตกต่างไปได้อีก โดยการติดเชื่อครั้งที่สองมักมีอาการที่รุนแรงกว่าครั้งแรกส่วนใหญ่มักมีการติดเชื้อไม่เกิน 2 ครั้ง


จะป้องกันไข้เลือดออกได้หรือไม่

เนื่องจากวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกอยู่ในขั้นกำลังพัฒนายังไม่มีจำหน่ายในขณะนี้ วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไข้เลือดออกคือระวังไม่ให้เด็กถูกยุงลายกัดและรณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เช่น การปิดฝาโอ่งน้ำ เทน้ำในแจกันหรือน้ำที่หล่อขาตู้ทุก 7 วัน ใส่ทรายอะเบทในแหล่งน้ำขัง เป็นต้น
สำหรับบ้านที่มีผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออก จำเป็นต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบ เพื่อจะได้พ่นยาฆ่าตัวยุง เป็นการป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่ที่อื่น

 


โรงพยาบาลขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ข้อมูลโดย
หน่วยสุขศึกษา ฝ่ายผู้ป่วยนอก
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย

ความรู้เกี่ยวกับ..เห็ดพิษ!!!

ความรู้เกี่ยวกับเห็ดพิษ

1.เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเห็ดใดมีพิษและสามารถรับประทานได้หรือไม่

2. วิธีสังเกตลักษณะของเห็ดที่มีพิษ (บรรยายพร้อมภาพประกอบ)


        ตอบข้อ 1-2

ตารางเปรียบเทียบลักษณะเห็ดพิษและเห็ดรับประทานได้

เห็ดพิษ
เห็ดรับประทานได้
1. ส่วนใหญ่เจริญงอกงามในป่า
1. ส่วนใหญ่เจริญในทุ่งหญ้า
2. ก้านสูง ลำต้นโป่งพองออก โดยเฉพาะที่ฐาน กับที่วงแหวนเห็นชัดเจน
2. ก้านสั้น อ้วนป้อมและไม่โป่งพองออก ผิวเรียบไม่ขรุขระ ไม่มีสะเก็ด
3. สีผิวของหมวกมีได้หลายสี เช่น สีมะนาว ถึงสีส้ม สีขาวถึงสีเหลือง
3. สีผิวของหมวกส่วนใหญเป็นสีขาวถึงสีน้ำตาล
4. ผิวของหมวกเห็ดส่วนมากมีเยื่อหุ้มดอกเห็ดเหลืออยู่ในลักษณะที่ดึงออกได้ หรือเป็นสะเก็ดติดอยู่
4. ผิวของหมวกเห็ดเรียบจนถึงเป็นเส้นใยและ เหมือนถูกกดจนเป็นแผ่นบาง ๆ ดึงออกยาก
5. ครีบแยกออกจากกันชัดเจน มักมีสีขาว บางชนิดสีแดงหรือสีเขียวอมเหลือง
5. ครีบแยกออกจากกัน ในระยะแรกเป็นสีชมพู แล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
6. สปอร์ใหญ่มีสีขาวหรือสีอ่อน มีลักษณะใส ๆ รูปไข่กว้าง
6. สปอร์สีน้ำตาลอมม่วงแก่รูปกระสวยกว้าง

3. การนำมาทดสอบพิษด้วยการต้มรวมกับข้าวสาร ช้อนเงิน หรือหัวหอม เป็นวิธีที่ถูกต้องหรือไม่
        ไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากวิธีดังกล่าวไม่สามารถทดสอบกับเห็ดบางชนิด เช่น เห็ดพิษสกุล Amanita

4. การนำเห็ดไปต้มให้สุกก่อนรับประทาน จะมีความปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่
        ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะว่าเห็ดบางชนิด เช่นเห็ดระโงกหิน หรือเห็ดไข่ตายซาก (ฮาก) (Amanita verna  และ Amanita virosa ) ซึ่งมีสารพิษในกลุ่ม cyclopeptide จะทนความร้อนได้ดี การนำเห็ดไปต้มก็ไม่สามารถทำให้สารพิษนี้สลายไปได้

5. อาการของพิษที่เกิดจากการรับประทานเห็ด/ควรปฐมพยาบาลเบิ้องต้นอย่างไร
             อาการของพิษที่เกิดจากการรับประทานเห็ดพิษแต่ละกลุ่ม ได้แก่
        5.1 กลุ่มที่สร้างสารพิษ cyclopeptide มีพิษต่อตับ เช่น เห็ดไข่ตายซากหรือเห็ดระโงกหิน(Amanita verna  และ Amanita virosa ) เมื่อรับประทานเข้าไปจะมีอาการเป็น 3 ระยะ คือ
        ระยะที่ 1 เป็นระยะฟักตัวประมาณ 6-24 ชั่วโมง ปกติประมาณ 10 ชั่วโมง หลังจากรับประทานเห็ดเข้าไปถึงขั้นแสดงอาการ
        ระยะที่ 2 จะมีอาการเป็นตะคริวที่ท้อง คลื่นเหียนอาเจียน ท้องร่วง เอนไซม์ตับสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยจะแสดงอาการ 2-3 วัน
        ระยะที่ 3 มีอาการตับอักเสบ ไตวาย หัวใจวาย เลือดเป็นลิ่มแพร่กระจาย ชัก และเสียชีวิต ภายใน 6 –16 วัน ปกติประาณ 8 วัน หลังจากการรับประทานเห็ดพิษชนิดนี้เข้าไป

        5.2 กลุ่มที่สร้างสารพิษ Monomethylhydrazine (Gyromitrin) ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง เห็ดที่มีสารพิษนี้เช่น เห็ดสมองวัว (Gyromitra esculanta 
        อาการของสารพิษชนิดนี้จะปรากฏใน 6-8 ชั่วโมง หลังจากรับประทานเห็ด บางชนิดอาจเร็วมากเพียง 2 ชั่วโมง และบางชนิดอาจนานถึง 12 ชั่วโมง จะมีอาการต่าง ๆ คือ มึมงง ปวดศรีษะ คลื่นใส้ อาเจียน ท้องเสียและเป็นตะคริวที่กล้ามเนื้อ เจ็บที่ท้อง ในรายที่รุนแรง จะพบการทำลายตับ มีไข้สูง ชัก ไม่รู้สึกตัว และถึงตายได้ภายใน 2-4 วัน หลังรับประทานเห็ดกลุ่มนี้

        5.3 กลุ่มที่สร้างสารพิษ Coprine 
        เห็ดที่มีสารพิษนี้เช่น เห็ดหิ่งห้อย เห็ดน้ำหมึกหรือเห็ดถั่ว (Coprinus atramentrarius) อาการของสารพิษชนิดนี้จะแสดงอาการภายใน 5-10 นาที อาจจะถึง 30 นาทีหลังจากรับประทานเห็ดเข้าไป ถ้ามีการดื่ม alcohol เข้าไปในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง ก่อนรับประทานเห็ด คุณสมบัติทางเคมีคล้ายคลึงกับ Antavare ซึ่งรักษาคนไข้ติด alcohol ผู้ป่วยจะมีอาการหน้าแดง ตัวแดง ใจสั่น หายใจหอบ เหงื่อแตก เจ็บหน้าอก ชาตามตัว คลื่นเหียนอาเจียน ม่านตาขยาย และความดันโลหิดสูง อาจพบความดันโลหิตต่ำเนื่องจากหลอดเลือดขยายตัว แต่จะหายเป็นปกติภายในเวลา 3-4 ชั่วโมง

        5.4 กลุ่มที่สร้างสารพิษ Muscarine 
        เห็ดที่มีสารพิษชนิดนี้เช่น Inocybe napipes, หลังจากรับประทานเห็ดที่มีสารพิษชนิดนี้ประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง จะมีอาการหัวใจเต้นช้า หลอดลมหดเกร็ง เสมหะมาก ม่านตาหดเล็ก น้ำลายฟูมปาก น้ำตาไหล ปัสสาวะอุจจาระราด และอาเจียน

        5.5 กลุ่มที่สร้างสารพิษ Ibotenic acid-muscimol 
        เห็ดที่มีสารพิษชนิดนี้เช่น เห็ดเกล็ดดาว ( Amanita pantherina ), A. muscaria หลังจากรับประทานเห็ดที่มีสารพิษชนิดนี้ จะเกิดอาการเมา เดินโซเซ เคลิ้มฝ้น ร่าเริง กระปรี้กระเปร่า การรับรู้ภาพเปลี่ยนแปลง ประสาทหลอนและเอะอะโวยวาย ภายหลังจากเอะอะแล้วผู้ป่วยจะหลับนาน เมื่อตื่นขึ้นมาอาการจะกลับคืนสู่สภาพปกติใน 1-2 วัน ถ้ารับประทานเห็ดชนิดนี้มาก ๆ จะเกิดอาการทางจิตอย่างชัดเจน อาจชักและหมดสติได้

        5.6 กลุ่มที่สร้างสารพิษ Psilocybin
        เห็ดที่มีสารพิษชนิดนี้เช่น เห็ดขี้ควาย เห็ดขี้วัว บางแห่งเรียกเห็ดโอสถลวงจิต(Psilocybe cubensis) หลังจากรับประทานเห็ดที่มีสารพิษชนิดนี้ ประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกเคลิบเคลิ้ม ตามด้วยการรับรู้ที่ผิดไปจากความเป็นจริง และประสาทหลอน มีอาการเดินโซเซ ม่านตาขยาย หัวใจเต็นเร็ว หายใจถี่ ความดันโลหิดสูง ระดับน้ำตาลในเลือดลด มีอาการแสดงของระบบประสาทส่วนกลางถูกกระตุ้น มีความเคลื่อนไหวมากผิดปกติ จนกระทั่งถึงชักได้

        5.7 สารพิษกลุ่ม Gastrointestinal Irritants เป็นเห็ดพิษที่ทำให้เกิดอาการเฉพาะระบบทางเดินอาหารภายใน 30 นาที ถึง 3 ชั่วโมง มีอาการจุกเสียดยอดอก อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และไม่ทำให้มีอาการทางระบบอื่น ๆ เห็ดที่มีสารพิษชนิดนี้เช่นเห็ดหัวกรวดครีบเขียว ( Chlorophyllum molybdites ), เห็ดแดงน้ำหมาก ( Russula emetica )


การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

        การปฐมพยาบาลมีความสำคัญอย่างยิ่ง หากผู้ป่วยรับประทานเห็ดพิษและเกิดอาการพิษขึ้น ควรจะรู้จักวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องกับผู้ป่วย แต่ตามชนบทมักจะแสดงอาการหลังรับประทานแล้วหลายชั่วโมง ซึ่งพิษมักจะกระจายไปมาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องรู้จักวิธีปฐมพยาบาล แล้วรีบนำส่งแพทย์ เพื่อทำการรักษาโดยรีบด่วนต่อไป

        การปฐมพยาบาลนั้น ที่สำคัญที่สุดคือ ทำให้ผู้ป่วยอาเจียนเอาเศษอาหารที่ตกค้างออกมาให้มาก และทำการช่วยดูดพิษจากผู้ป่วยโดยวิธีใช้น้ำอุ่นผสมผงถ่าน activated charcoal แล้วดื่ม 2 แก้ว โดยแก้วแรกให้ล้วงคอให้อาเจียนออกมาเสียก่อนแล้วจึงดื่มแก้วที่ 2 แล้วล้วงคอให้อาเจียนออกมาอีกครั้ง จึงนำส่งแพทย์พร้อมกับตัวอย่างเห็ดพิษหากยังเหลืออยู่ หากผู้ป่วยอาเจียนออกยากให้ใช้เกลือแกง 3 ช้อนชาผสมน้ำอุ่นดื่ม จะทำให้อาเจียนได้ง่ายขึ้น แต่วิธีนี้ห้ามใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ

        อนึ่งห้ามล้างท้องด้วยการสวนทวารหนักโดยพละการ วิธีนี้ต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยเท่านั้น เพราะวิธีนี้เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยหากร่างกายขาดน้ำ

        หลังจากปฐมพยาบาลผู้ป่วยแล้วให้รีบนำส่วนแพทย์โดยด่วน พร้อมกับตัวอย่างเห็ดพิษ (หากยังเหลืออยู่) หรืออาจจะทำการปฐมพยาบาลผู้ป่วยในระหว่างนำส่งแพทย์ด้วยกันก็ได้

6. คำแนะนำในการเลือกชื้อและนำเห็ดมาประกอบอาหาร ควรทำอย่างไร
        การเลือกชื้อ ให้ดูจากข้อ 1และ 2 และอย่ารับประทานเห็ดที่สงสัย ไม่รู้จัก และไม่แน่ใจ ควรรับประทานเฉพาะเห็ดที่แน่ใจ และเพาะได้ทั่วไป

การนำเห็ดมาประกอบอาหารควรปฏิบัติดังนี้

  1. การรับประทานอาหารที่ประกอบขึ้นด้วยเห็ด ควรจะรับประทานแต่พอควร อย่ารับประทานจนอิ่มมากเกินไป เพราะเห็ดเป็นอาหารที่ย่อยยาก อาจจะทำให้ผู้มีระบบย่อยอาหารที่อ่อนแอเกิดอาการอาหารเป็นพิษได้
  2. ควรระมัดระวัง คัดเห็ดที่เน่าเสียออกเพราะเห็ดที่เน่าเสียจะทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษได้
  3. อย่ารับประทานอาหารที่ปรุงขึ้นสุก ๆ ดิบ หรือเห็ดดิบดอง เพราะเห็ดบางชนิดยังจะมีพิษอย่างอ่อนเหลืออยู่ ผู้รับประทานจะไม่รู้สึกตัวว่ามีพิษ จนเมื่อรับประทานหลายครั้งก็สะสมพิษมากขึ้น และเป็นพิษร้ายแรงถึงกับเสียชีวิตได้ในภายหลัง
  4. ผู้ที่รู้ตัวเองว่าเป็นโรคภูมิแพ้เกี่ยวกับเห็ดบางชนิด หรือกับเห็ดทั้งหมด ซึ่งถ้ารับประทานเห็ดเข้าไปแล้ว จะทำให้เกิดอาการเบื่อเมา หรืออาหารเป็นพิษ จึงควรระมัดระวัง รับประทานเฉพาะเห็ดที่รับประทานได้โดยไม่แพ้ หรือหลีกเลี่ยงจากการรับประทานเห็ด
  5. ระมัดระวังอย่ารับประทานเห็ดพร้อมกับดื่มสุรา เพราะเห็ดบางชนิดจะเกิดพิษทันที ถ้าหากดื่มสุราหลังจากรับประทานเห็ดแล้วภายใน 48 ชั่วโมง เช่น เห็ดหิ่งห้อย เห็ดน้ำหมึกหรือเห็ดถั่ว (Coprinus atramentarius ) แม้แต่เห็ดพิษอื่นทั่วไป หากดื่มสุราเข้าไปด้วย ก็จะเป็นการช่วยให้พิษกระจายได้รวดเร็วและรุนแรงขึ้นอีก

เอกสารอ้างอิง

  1. Lincoff.G.H. and P.M. Michell 1977. Toxic and Hallucinogenic Mushroom Poisoning, a Hhandbook for physicians and Mushroom Hunter. Van Nostrand & Reinhlod Co., New York.
  2. สมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย. เห็ดพิษ กรุงเทพฯ : บริษัทนิวธรรมดาการพิมพ์(ประเทศไทย) จำกัด, 2543.
  3. สมิง เก่าเจริญและคณะ. หลักการวินิจฉัยและรักษาภาวะเป็นพิษ. พิมพ์ครั้งที่ 1: ศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, 2541.

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขุนยวม

นายแพทย์สุพัฒน์ ใจงาม

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขุนยวม

หนังสือราชการ Online

ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร

กองทุนสมเด็จพระสังฆราช

ITA

Weblink